วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

{สาระน่ารู้} สินค้าส่งออกไทยในอดีต

ใบความรู้ เรื่องศัพท์เศรษฐกิจ : สินค้าออกไทย
สินค้าออกไทย ในสมัยสุโขทัย
                อาณาจักรสุโขทัยนอกจากมีการค้าภายในอาณาจักรแล้วยังมีการค้ากับต่างประเทศ เช่น มลายู อินโดนีเซีย ลูซอน เนื่องจากในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ได้หัวเมืองมอญมาเป็นเมืองขึ้น ทำให้ใช้เมืองท่าที่หัวเมืองมอญค้าขายกับต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น 
                สินค้าที่อาณาจักรสุโขทัยส่งออกไปขายกับต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นผลิตผลจากป่าซึ่งหายาก ได้แก่ ไม้กฤษณา ไม้ฝาง น้ำผึ้ง ยางรัก หนังสัตว์ ขนสัตว์และสังคโลก 
(ภาพเครื่องสังคโลกจาก : http://www.stou.ac.th/study/sumrit/1-56(500)/3.1-1-56(500).jpg)

           โดยเฉพาะเครื่องสังคโลกที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก เครื่องสังคโลกมีหลายแบบ ทั้งจาน ไห กระปุก แจกัน มีขนาดลวดลายแตกต่างกัน ที่ทำเป็นเครื่องประดับ เช่น ช่อฟ้า ใบระกา รูปสัตว์ก็มี แต่สีที่เคลือบมักเป็นสีเขียวไข่กา ที่เป็นสีน้ำตาลก็มีบ้าง เชื่อได้ว่า รายได้จากการค้าเครื่องสังคโลกเป็นรายได้ที่สำคัญของอาณาจักรสุโขทัย และเมื่อสุโขทัยเสื่อมอำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการก่อตั้งอาณาจักรอยุธยาขึ้นมาใน พ.ศ. 1893 รายได้จากการค้าเครื่องสังคโลกของสุโขทัยลดลงมาก เนื่องจากเส้นทางส่งสินค้าออกทางทะเลถูกปิดกั้น อย่างไรก็ตาม การทำเครื่องสังคโลกเพื่อประโยชน์ใช้สอยและการค้าก็ได้ดำเนินต่อมา
สินค้าออกไทย ในสมัยอยุธยา
(ภาพจำลองอาณาจักรอยุธยาจาก : http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/e/e7/Iudea-Ayutthaya.jpg)
           การค้ากับต่างประเทศ เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ.๒๑๙๙-พ.ศ.๒๒๓๑ ) กรุงศรีอยุธยาได้ทำการค้าของป่ากับประเทศต่างๆ ทั้งทางตะวันออกและตะวันตกดังปรากฏว่า ใน พ.ศ. ๒๒๑๑ ไทยได้ส่งทูตออกไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศอิหร่านเป็นครั้งแรก ส่วนการค้าขายกับจีนก็ยังคงดำเนินไปตามปกติ พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนใน พ.ศ.๒๒๐๗ ,๒๒๐๘,๒๒๑๑,๒๒๑๕,๒๒๑๖ และ ๒๒๒๑ และได้รับอนุญาตให้ทำการค้าขายสินค้า ณ ที่ใดก็ได้ในประเทศจีน ไทยได้รับความสะดวกในการค้าของป่าเพิ่มขึ้น
สินค้าออกของราชอาณาจักรอยุธยาขายผ่านพระคลังสินค้า ทั้งนี้เพราะสินค้าพื้นเมืองบางชนิดเป็นที่ต้องการของชาวต่างประเทศมาก หากปล่อยให้ซื้อขายกันโดยเสรีเกรงว่าของเหล่านั้นจะหมดสิ้นไป ไม่มีใช้ในราชการบ้านเมือง จึงกำหนดให้เป็นสินค้าต้องห้าม ต้องซื้อขายผ่านพระคลังสินค้า เช่น    ไม้กฤษณา นอแรด ดีบุก งาช้าง ไม้จันทน์ ไม้หอม และไม้ฝาง เป็นต้น สินค้าต้องห้ามนี้เพิ่มประเภทขึ้นโดยลำดับ เช่น ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง สินค้าต้องห้าม เช่น ดินประสิว ตะกั่ว ฝาง หมากสง หนังสัตว์    เนื้อไม้ งาช้าง ดีบุก  ไม้หอม เป็นต้น

            สินค้าที่ชาวต่างประเทศต้องการมากอีกอย่างหนึ่ง คือ ข้าว ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ข้าวกลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญ โดยส่งไปประเทศจีนไม่น้อยกว่าปีละ 65,000 หาบ บางปีส่งไปหลายแสนหาบ และบางปีถึง 1 ล้าน 5 แสนหาบ
      
     ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ การค้าของป่ากับประเทศฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส ได้ขยายตัวกว้างขวาง บริษัทอีสต์ อินเดียของอังกฤษได้เล็งเห็นถึง ความสำคัญของการค้ากับกรุงศรีอยุธยา ในแง่ที่ว่าไทยมีสินค้าของป่าที่มีค่า เป็นสินค้าขาออกหลายอย่าง อาทิ เช่น กฤษณา ฝาง ดีบุก งาช้าง หมาก ตะกั่ว และยังเป็นแหล่งรวมสินค้าจากจีนและอินเดียด้วย เช่นเดียวกันกับที่ฝรั่งเศสได้เข้ามาตั้งคลังสินค้าในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๕ รัฐบาลไทยได้ให้การต้อนรับอย่างดี และให้สิทธิพิเศษในการค้าขาย เพราะเห็นประโยชน์ที่จะรับในการติดต่อกับฝรั่งเศสทั้งทางด้านการค้าและหวังที่เกรงขามอยู่ในขณะนั้น ทั้งนี้เพราะปรากฏว่า ในตอนต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ผลประโยชน์ทางด้านการค้าของป่าส่วนใหญ่ ตกอยู่ในมือของฮอลันดา ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษในการซื้อหนังสัตว์ มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรมเมื่อ พ.ศ.๒๑๖๐ แต่พอมาถึงปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์การค้าของฮอลันดาเสื่อมลง เพราะได้รับการขัดขวางจากฟอลคอนถึงกระนั้นฮอลันดาก็ยังคงทำการค้าขายกับไทยตลอดมา เพราะข้าวเป็นสินค้าประจำที่บริษัทมาซื้อจากกรุงศรีอยุธยา เพื่อไปจำหน่ายต่อยังหมู่เกาะมลายู ชวา

           นอกจากอังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอลันดาแล้ว ก็ปรากฏว่ายังมีพ่อค้าชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะในแถบเอเชีย ที่ได้เข้ามาซื้อสินค้าของป่าและสินค้าพื้นเมืองจากไทย เป็นต้นว่า

           มะนิลา ซื้อสินค้าป่าจากไทย เช่น งาช้าง กำยาน ชะมดเชมียง 

           เมืองอาแจ ในเกาะสุมาตรา มีปรากฏในจดหมายรายวันของผู้บังคับการป้อมเซนต์ยอช ที่เมืองมาสุลิปะตัม รายงานว่า กำปั่นหลวงในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ บรรทุกทองแดง ดีบุก เครื่องทองเหลือง ทองขาว พริกไทย กำยาน จะไปเมืองปอนดิเชอรี่ได้แวะที่เมืองอาแจนี้

           เมืองโครส่าน อยู่ในประเทศอิหร่าน ซึ่งไทยส่งเนื้อไม้อย่างดีไปขาย

           เมืองมาสุลิปะตัม ทางอ่าวเบงกอลไทยส่งช้างจากเมืองมะริดไปขาย

           อนึ่ง นับตั้งแต่รัชกาลพระเพทราชาเป็นต้นมา (พ.ศ.๒๒๓๑-พ.ศ.๒๒๔๖) การค้าของป่ากับประเทศตะวันตกอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เนื่องจากพระเพทราชารงมีพระราชประสงค์ ที่จะติดต่อเกี่ยวกับชาวตะวันตก ประกอบกับในรัชกาลนี้เกิดกบฏที่เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองนครราชสีมา รัฐบาลต้องเสียเวลาปราบปราม ไม่มีโอกาสทำนุบำรุงการค้าของป่า ทำให้การค้ากับต่างประเทศเสื่อมลง อย่างไรก็ตาม เมื่อฝรั่งเศสหมดอำนาจลงชาวฮอลันดาก็กลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๒๓๑ ฮอลันดาได้ทำสัญญากับไทย มีใจความเหมือนฉบับเก่าที่ทำไว้ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และในสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่๘ (พระเจ้าเสือ) พ.ศ. ๒๒๔๖-พ.ศ.๒๒๕๑ ไทยได้แสดงความประสงค์ที่จะให้พ่อค้าฝรั่งเศสเข้ามาค้าขายในไทยอีก โดยไทยยินดีจะให้สิทธิพิเศษต่างๆ แต่ฝรั่งเศสไม่เห็นความสำคัญ เพราะสภาพการค้ามนเมืองไทยขณะนั้นร่วงโรยมาก ในพ.ศ.๒๒๖๐ ข้าหลวงสเปนประจำฟิลิปปินส์ได้ส่งคณะทูตเข้ามาเจริญทางไมตรีทางการค้ากับไทย ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระและได้ทำความตกลงในแง่ของการค้าของป่า กล่าวคือ สเปนซื้อสินค้าป่าได้ทุกอย่าง นอกจากดินประสิวและงาช้าง ซึ่งเป็นของพระคลังสินค้า ส่วนหนังโค หนังกวาง ดีบุกนั้นซื้อไม่ได้ เพราะเป็นสินค้าผูกขาดของฮอลันดา สำเภาหลวงทั้งสองฝ่ายที่ไปมาค้าขาย ไม้องเสียภาษีอากรทั้งขาเข้าและขาออก อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากทำสนธิสัญญาแล้ว ปรากฏว่า เรือไทยที่ไปค้าขายที่กรุงมะนิลาได้รับความเดือนร้อน จากากรกระทำของชาวสเปน ทำให้การค้ากับสเปนเลิกร้างกันไปในตอนปลายรัชกาล

           ในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้น การค้าของป่ากับต่างประเทศ เสื่อมโทรมลงจากเดิมมาก ดังปรากฏในจดหมายเหตุของเมอซิเออณ์ เดอร์บู ถึง เอมซิเออร์ เตเชีย ลงวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๒๕๖ กล่าวว่า ข้าพเจ้ามีความประหลาดใจมาก ที่ได้เห็นบ้านเมืองร่วงโรยลงไปมาก ทั่วพระราชอาณาจักรเมืองไทยเวลานี้ไม่เหมือนกับเมืองไทยเมื่อครั้ง๕๐ ปีที่ล่วงมาแล้ว ซึ่งเป็นเวลาที่พวกเราได้มาเห็นเป็นครั้งแรก ในเวลานี้ไม่เห็นเรือสินค้าจำนวนมาก หรือเห็นเรือไทยไปมาค้าขายตั้งแต่ก่อนแล้ว
สินค้าออกไทย ในสมัยธนบุรี
                  ช่วงต้นรัชกาล สภาพบ้านเมืองเสียหายจากการสงครามอย่างหนัก เกิดทุพภิกขภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย   เนื่องจากขาดการทำนามานาน ราคาข้าวในอาณาจักรสูงเกือบตลอดรัชกาล ก่อนจะค่อย ๆ ลดลงในตอนปลายรัชกาล จะมีเพิ่มสูงขึ้นบ้างก็ในปี พ.ศ. 2312 ที่เกิดหนูระบาด สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อข้าวมาให้แก่ราษฎรทั้งหลาย ช่วยคนได้หลายหมื่น ทั้งยังกระตุ้นให้ชาวบ้านทั้งหลายเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงด้วย การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศก็ยังไม่ดีมากนัก
การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ
                ประเทศจีน หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา การติดต่อกาค้าไทยกับจีนได้อยุดชะงักลง แต่ก็ได้มาเริ่มใหม่ เมื่อจีนยอมรับเครื่องราชบรรณาการจากกรงธนบุรี ปีพ.ศ. 2324 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงส่งราชทูตไปกรุงปักกิ่งโดยมี เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เป็นหัวหน้าราชทูต
ความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างไทยกับจีนเริ่มต้นจากการค้าข้าวเป็นสำคัญ ต่อมาได้ขยายเพิ่มขึ้น โดยประเทศจีนได้ส่งสินค้าพื้นเมืองจากแต้จิ๋วมาขาย ที่สำคัญ คือ เครื่องลายคราม ผ้าไหม ผักดอง และเสื่อ เป็นต้น เที่ยวกลับก็จะซื้อสินค้าจากไทย อาทิ ข้าว เครื่องเทศ ไม้สัก ดีบุก ตะกั่ว กลับไปยังเมืองจีนด้วย เช่นกัน
นอกจากนั้น ในปี พ.ศ. 2320 ได้มีหนังสือจีน ฉบับหนึ่งในสมัยราชวงศ์ ไต้เชงแห่งแผ่นดิน เฉียงหลง ปีที่ 42 ได้บันทึกไว้ว่า "สินค้าของไทยมี อำพัน ทอง ไม้หอม งาช้าง กระวาน พริกไทย ทองคำ หินสีต่าง ๆ ทองคำก้อน ทองคำทราย พลอยหินต่างๆ และตะกั่วแข็ง เป็นต้น"
(ภาพทองคำจาก : http://board.postjung.com/data/704/704366-topic-ix-0.jpg)

รูปเจ้าของBlogกับข้าวสาร ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


บทความโดย นางสาวธัชพรรณ รัตนนาคินทร์ ม.5/941 เลขที่ 9
http://th.wikipedia.org/wiki/ความสัมพันธ์กับต่างชาติสมัยกรุงธนบุรี
http://taeiloveyoutoo.wordpress.com/2013/09/24/70/
http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/bangkok/malaiwan_c/historym1/unit03_03.html
http://www.maceducation.com/e-knowledge/2343103100/09.htm
http://www.trimitschool.com/RPT/Social/pen1/a2.html